กลุ่มผู้ประกอบการในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ( ปกภ. )
Group of Bangkok Metropolitan Entrepreneur Suffering from Flood Disaster ( BSD )
494 อาคารเอราวัณแบงค็อก ชั้น 4 ห้อง 407 ถ.เพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. : 081-538-4200 แฟ๊กซ์ : 02-251-3770
อีเมล : pppbobi@gmail.com เว็บไซต์ :www.thaippp.com
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2554
เรียน ผู้ประกอบการ และลูกจ้าง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่นับถือ
ตามที่ทางกลุ่มผู้ประกอบการในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ( ปกภ. ) ได้ยื่นหนังสือถึง ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันพุธที่ 26 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา เลขที่รับหนังสือ 1017 เพื่อขอให้ทางรัฐบาล ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นกรณีฉุกเฉิน อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิต ทรัพย์สิน ของประชาชน ตลอดจนหน่วยงานราชการ และขอมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ได้ผลกระทบจากภัยน้ำท่วม และทางสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 โดยข้อเสนอแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ ทางสำนักนายกฯ ได้ส่งเรื่องต่อไปยังกรมชลประธาน และข้อเรียกร้องการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทางสำนักนายกฯ ได้ส่งเรื่องต่อไปยังกระทรวงการคลังแล้วนั้น
ทาง ปกภ. มีกำหนดนำผู้ประกอบการในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม เดินทางไปมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนำเสนอมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อให้แน่ใจได้ว่า เงินงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ จะถึงมือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยรั่วไหลน้อยที่สุด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. แผนการระดมเงินงบประมาณฉุกเฉินช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม และฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท : โดยให้นิติบุคคล สามารถบริจาคเงินเข้ากองทุนช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม หักภาษีได้เต็มจำนวน 100% ของกำไรสุทธิ และบุคคลธรรมดา สามารถนำเงินบริจาคฯ หักภาษีได้เต็มจำนวน 100% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อนทุกชนิดแล้ว
2. แผนการบูรณะ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน แบบทวีคูณ ยั่งยืน แก้ไขความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และป้องกันภัยน้ำท่วมในระยะยาว :
2.1 สร้างสะพานแทนถนนที่ถูกกระแสน้ำเซาะทำลาย พร้อมระบบประตูระบายน้ำที่มีเครื่องวัดระดับน้ำและระบบวัดอัตราการไหลของน้ำ เพื่อให้สามารถกำหนดความเร็วในการระบายน้ำได้อย่างเหมาะสม เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในครั้งต่อไป
2.2 พื้นที่มีระดับน้ำท่วมสูงมากที่สุดสิบลำดับแรก ให้ทางรัฐบาลเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าวทั้งหมด เพื่อทำเป็นแก้มลิงและพื้นที่รับน้ำ เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในครั้งต่อไป และเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามเกิดภัยแล้ง โดยกำหนดราคาเวนคืนที่ดินให้สูงกว่าราคาประเมินไม่น้อยกว่าสามเท่า เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เจ้าของที่ดินยินดีให้ทางรัฐเวนคืนที่ดินแบบลดความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นมาตลอดในอดีต
2.3 สร้างเครือข่ายอุโมงค์ระบายน้ำระหว่างเขื่อนทั่วประเทศ พร้อมระบบสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ทั่วประเทศ ให้ทุกเขื่อนมีระดับน้ำที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ที่มีน้ำมาก หรือน้อยเกินไป
3. แผนการฟื้นฟูสุขภาพจิต สร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม : พลิกวิกฤตเป็นโอกาสโดยให้ทางรัฐบาลอพยพประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขัง หรือพื้นที่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วม ไปท่องเที่ยว พักผ่อนเพื่อสุขภาพ ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัย โดยทางรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ + กระจายรายได้ พร้อมระดมทหารกองหนุนปลดประจำการ , กองกำลังรักษาดินแดน , ตำรวจอาสา และ อพปร. จำนวน 1 ล้านนาย คอยดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้อพยพหนีภัยน้ำท่วม
4. แผนการช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายในทรัพย์สิน และที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วไป จากภัยน้ำท่วม โดยกำหนดวงเงินซ่อมแซม ตามฐานภาษี เพื่อเป็นแรงจูงใจให้บุคคลธรรมดา มีความมุ่งมั่นนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามรายได้ที่แท้จริง โดยเป็นวงเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า และวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ :
4.1 ให้ทางรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สิน และที่อยู่อาศัยของประชาชนทั้งหมด ที่เสียหายจากภัยน้ำท่วมตามความเป็นจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ ดังต่อไปนี้
4.1.1 บุคคลธรรมดาที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : วงเงินซ่อมแซมไม่เกินครอบครัวละ 100,000 บาท โดยผู้รับความช่วยเหลือจะต้องเขียนหนังสือสัญญาผูกพันว่า ต่อไปนี้จะยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามรายได้ที่แท้จริง
4.1.2 บุคคลธรรมดาที่เคยยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรรมดา : วงเงินซ่อมแซม 1 แสนบาท บวกกับยอดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เคยนำส่งกรมสรรพากรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น นาย สมบูรณ์ นำทิพย์จันทาเจริญ เคยนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กรมสรรพากรตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เป็นเงิน 3 ล้านบาท แล้วทรัพย์สินได้รับความเสียหาย 2 ล้านบาท นาย สมบูรณ์ฯ มีสิทธิ์ได้รับเงินซ่อมแซมทรัพย์สินทั้งสิ้น ไม่เกิน 2.1 ล้านบาท
4.2 ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อซ่อมแซม ทรัพย์สิน และที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วไป อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 3 ปี โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือค้ำประกันโดย บสย. ดังต่อไปนี้
4.2.1 บุคคลธรรมดาที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : วงเงินกู้อนุมัติตามมูลค่าความเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้จริง ไม่เกินครอบครัวละ 5 แสนบาท โดยผู้รับเงินกู้ จะต้องเขียนหนังสือสัญญาผูกพันว่า ต่อไปนี้จะยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามรายได้ที่แท้จริง
4.2.2 บุคคลธรรมดาที่เคยยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรรมดา : วงเงินกู้อนุมัติตามมูลค่าความเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้จริง แต่ไม่เกินกว่าจำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เคยนำส่งกรมสรรพากรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น นาย สมบูรณ์ นำทิพย์จันทาเจริญ เคยนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กรมสรรพากรตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เป็นเงิน 3 ล้านบาท แล้วทรัพย์สินได้รับความเสียหาย 2 ล้านบาท นาย สมบูรณ์ฯ มีสิทธิ์ได้รับวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอีก 2 ล้านบาท นอกเหนือจากเงินช่วยเหลือจากข้อ 4.1.2
5. แผนการช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายทั้งทางตรง / ทางอ้อม ในทรัพย์สินและสถานประกอบการของผู้ประกอบการ / นิติบุคคล :
5.1. ให้ทางรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สินของสถานประกอบการ และนิติบุคคลทั้งหมด ที่เสียหายจากภัยน้ำท่วมตามความเป็นจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ ดังต่อไปนี้
5.1.1. สถานประกอบการ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : วงเงินซ่อมแซมไม่เกินสถานประกอบการละ 1 ล้านบาท โดยผู้รับความช่วยเหลือจะต้องเขียนหนังสือสัญญาผูกพันว่า ต่อไปนี้จะยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ของสถานประกอบการตามรายได้ที่แท้จริง
5.1.2. นิติบุคคล ที่เคยยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล , ภาษีมูลค่าเพิ่ม , ภาษีหัก ณ ที่จ่าย : วงเงินซ่อมแซม 1 ล้านบาท บวกกับยอดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เคยนำส่งกรมสรรพากรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ไอซอพติก จำกัด เคยนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล , ภาษีมูลค่าเพิ่ม , ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้กรมสรรพากรตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เป็นเงิน 20 ล้านบาท แล้วทรัพย์สินและสถานประกอบการ ได้รับความเสียหาย 21 ล้านบาท บริษัท ไอซอพติก จำกัด มีสิทธิ์ได้รับเงินซ่อมแซมทรัพย์สิน และสถานประกอบการ ตามจำนวนภาษีที่เคยนำส่งให้รัฐ 20 ล้านบาท + วงเงินซ่อมแซมตามข้อ 5.1.1 อีก 1 ล้านบาท บริษัท ไอซอพติก จำกัด จะได้รับเงินซ่อมแซมทรัพย์สิน และสถานประกอบการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 21 ล้านบาท
5.2. ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อซ่อมแซม / ปรับปรุง ทรัพย์สินและสถานประกอบการ ของผู้ประกอบการ และนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 3 ปี โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือค้ำประกันโดย บสย. ดังต่อไปนี้
5.2.1. ผู้ประกอบการ และนิติบุคคล ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : วงเงินกู้อนุมัติตามมูลค่าความเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้จริง ไม่เกินสถานประกอบการ / นิติบุคคล ละ 1 ล้านบาท โดยสถานประกอบการ / นิติบุคคล ผู้รับเงินกู้ จะต้องเขียนหนังสือสัญญาผูกพันว่า ต่อไปนี้จะยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ของ สถานประกอบการ / นิติบุคคล ตามรายได้ที่แท้จริง
5.2.2. สถานประกอบการ / นิติบุคคล ที่เคยยื่นเสียภาษีทุกชนิด : วงเงินกู้อนุมัติตามมูลค่าความเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้จริง แต่ไม่เกินกว่าจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคล , ภาษีมูลค่าเพิ่ม , ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่เคยนำส่งกรมสรรพากรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ไอซอพติก จำกัด เคยนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล , ภาษีมูลค่าเพิ่ม , ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้กรมสรรพากรตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เป็นเงิน 20 ล้านบาท แล้วทรัพย์สินและสถานประกอบการ ได้รับความเสียหาย 21 ล้านบาท นาย สมบูรณ์ฯ มีสิทธิ์ได้รับวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 20 ล้านบาท นอกเหนือจากเงินช่วยเหลือจากข้อ 5.2.1 อีก 1 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำทั้งสิ้น 21 ล้านบาท
6. รีไฟแนนซ์หนี้สินทั้งหมด ให้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงินอนุมัติให้ตามจำนวนภาษีทั้งหมดที่เคยนำส่งให้รัฐ ผ่านกรมสรรพากร
ผู้ประกอบการในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม หากมีความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือ เยียวยา จากทางรัฐบาล ขอให้มายื่นหนังสือด้วยตัวเอง ในวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2554 ที่ :
ศูนย์แว่นตาไอซอพติก
494 อาคารเอราวัณแบงค็อก ชั้น 4 ห้อง 407 ถ.เพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. : 081-538-4200
แฟ๊กซ์ : 02-251-3770
อีเมล : pppbobi@gmail.com
เว็บไซต์ : www.thaippp.com
หรือทำหนังสือแจ้งมาที่ กลุ่มผู้ประกอบการในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ( ปกภ. ) ตามที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล แฟ็กซ์ ข้างบนนี้ ภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554
ทางกลุ่มผู้ประกอบการในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ( ปกภ. ) จะเดินทางไปมอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจ ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ยื่นหนังสือขอรับการเยียวยา ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ และลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม อย่างเฉพาะเจาะจง เป็นรายบุคคล ในวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2554 นี้ เวลา 13:00 น. 15:00 น. ที่ : ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต เข้าทางประตู 4 โทร. 02-283-1270 84
หากผู้ประกอบการ และลูกจ้าง ในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ท่านใด มีความประสงค์เข้าร่วมขอรับการเยียวยาช่วยเหลือ กับ ปกภ. ขอให้เตรียมบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนการค้า ไปพร้อมกันในวัน เวลา ดังกล่าว
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ และขอพระเจ้าเสริมกำลังใจ เปี่ยมด้วยพลังกาย ให้แข็งแกร่งดั่งศิลา นำประเทศชาติฝ่าวิกฤติครั้งนี้จนพ้นภัย พร้อมฟื้นฟูประเทศให้กลับมาเข้มแข็ง เปี่ยมด้วยความรัก ความสามัคคี เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกอีกครั้งหนึ่ง
ขอแสดงความนับถือ
สมบูรณ์ นำทิพย์จันทาเจริญ ( โบบิ )
ประธานกลุ่มผู้ประกอบการในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ( ปกภ. )
Group of Bangkok Metropolitan Entrepreneur Suffering from Flood Disaster ( BSD )
494 อาคารเอราวัณแบงค็อก ชั้น 4 ห้อง 407
ถ.เพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. : 081-538-4200
แฟ๊กซ์ : 02-251-3770
อีเมล : pppbobi@gmail.com
เว็บไซต์ : www.thaippp.com